สวัสดีท่านผู้อ่านและผู้ติดตามวารสาร HR Intelligence
วารสาร HR Intelligence ฉบับนี้เป็นวารสารปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2565) ซึ่งดิฉันได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการเป็นฉบับแรก สืบแทน ท่านรองศาสตราจารย์ ดร. ธีระ สินเดชารักษ์ วารสารฉบับนี้มีบทความวิจัยรวมทั้งสิ้น 4 บทความ ซึ่งผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิให้ผ่านเกณฑ์คุณภาพวิชาการเพื่อใช้ในการตีพิมพ์เผยแพร่ได้
ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทั่วโลกมีความรุนแรงลดลง จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ภาครัฐยังคงมีมาตรการเฝ้าระวังและการกระตุ้นเตือนประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น การตรวจหาโรคเมื่อมีอาการเข้าข่ายสงสัย รวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างเคร่งครัด เพราะความไม่แน่นอนของโรคยังคงมีอยู่
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไม่เพียงส่งกระทบต่อปัจเจกบุคคล ครัวเรือนและชุมชนสังคม แต่ยังส่งผลกระทบต่อองค์การธุรกิจทุกขนาด และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บทความวิจัยจำนวน 3 ชิ้นในวารสารฉบับนี้ นำเสนอผลการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่าองค์การและบุคลากรต้องมีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ COVID-19 หรือโรคระบาดอื่น หรือ disruption อื่น ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน องค์การต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการศึกษาค่านิยมการทำงาน การสร้างเสริมพฤติกรรมเชิงนวัตกรรมในการทำงาน และการสร้างบรรยากาศองค์การเพื่อให้พนักงานเกิดความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงองค์การ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น
บทความอีกชิ้นในวารสารฉบับนี้ศึกษามิติเศรษฐกิจนอกระบบในสังคมเมือง ผ่านการค้าขายอาหารข้างทาง โดยครอบคลุมปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการและเป็นทางการ ทั้งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และระหว่างผู้ขายกับภาครัฐ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ นโยบาย และมาตรการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย การรักษาผลประโยชน์ รวมไปถึงการดูแลและปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้นนั่นเอง
|