บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นการสรุปผลการศึกษาวิจัย 2 เรื่อง เรื่องแรก เป็นการศึกษาแบบแผนการใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้และการปรับตัวของประชาชนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และเรื่องที่สอง เป็นการศึกษามูลค่าของเวลาที่ใช้เพื่อการผลิตภายในครัวเรือน วัตถุประสงค์ของงานวิจัย คือ การวิเคราะห์แบบแผนการใช้เวลาในชีวิตประจำวันของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม และนำข้อมูลแบบแผนการใช้เวลามาประยุกต์เพื่อประเมินว่า เวลาที่สมาชิกแต่ละคนใช้เพื่อการผลิตสินค้า และบริการสำหรับการบริโภคภายในครัวเรือนคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ข้อมูลที่ใช้ศึกษาได้จากแบบสอบถามระดับครัวเรือน จำนวน 1,095 ครัวเรือน และแบบบันทึกกรใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในวันทำงานและในวันหยุด จากบุคคลตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,613 คน ผลการศึกษาพบว่า
ในแต่ละสัปดาห์ ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จะแบ่งการใช้เวลาใน 5 กิจกรรมคือ การดูแลตนเอง การทำงานในอาชีพการศึกษา การผลิตเพื่อสมาชิกในครอบครัว และนันทนาการ เป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 44.5, 26.0, 1.5, 11.3 และ 16.7 ของเวลาทั้งหมด ตามลำดับ การใช้เวลานี้จะแตกต่างกันตามเพศ อายุ เขตที่อยู่อาศัย และสถานภาพการทำงาน ถ้าถือว่าการทำงานในอาชีพ การศึกษา และการผลิตภายในครัวเรือนล้วนเป็นการ “ทำงาน” ทั้งสิ้น จะพบว่า ผู้ชายทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 59.4 ชั่วโมง และผู้หญิงทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 69 ชั่วโมง
ผู้หญิงมีอัตราการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจต่ำกว่าผู้ชาย อัตราการมีส่วนร่วมดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามอายุจากวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน และลดลงเมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้ว ผู้ที่จบการศึกษาเพียงระดับประถมหรือต่ำกว่า และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า จะมีอัตราการมีส่วนร่วมสูงกว่าผู้จบการศึกษาระดับมัธยมหรืออาชีวศึกษา การมีเด็กอาศัยอยู่ในครัวเรือนมีผลกระทบทำให้สมาชิกผู้หญิงใช้เวลาเพื่อการดูแลตนเอง เพื่อการศึกษา และเพื่อนันทนาการน้อยลง และทำให้เวลาเพื่อการผลิตภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ทำงานในอาชีพเมื่อรายได้ต่อสมาชิกของครัวเรือนเพิ่มขึ้นสมาชิกมักจะปรับตัวด้วยการใช้เวลาเพื่อการทำงานในอาชีพน้อยลง แต่มักจะใช้เวลาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มไม่ได้ทำงานในอาชีพ (ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 15-27 ปี) การที่รายได้ต่อสมาชิกของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมีผลทำให้การใช้เวลาของสมาชิกเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น การมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือนมีผลน้อยมากต่อแบบแผนการใช้เวลาของสมาชิกเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น การมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือนมีผลน้อยมากต่อแบบแผนการใช้เวลาของสมาชิกคนอื่นๆ ในครัวเรือน โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้เวลาประมาณ 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อการรับข้อมูลข่าวสารและมีความยาวของการรับข่าวสารแต่ละครั้งระหว่าง 1-2 ชั่วโมง ช่วงเวลา 18.00-21.00 น. จะมีคนใช้เวลาเพื่อรับข้อมูลข่าวสารหนาแน่นมากที่สุด การเพิ่มคุณภาพของการใช้เวลาเพื่อการรับข้อมูลข่าวสารจะเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การประเมินมูลค่าของการผลิตภายในครัวเรือนในปี 2544 พบว่า ตกประมาณ 596,427 – 992,081 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 – 19.45 ของมูลค่าการผลิตที่รวมอยู่ในบัญชีรายได้ประชาชาติ มูลค่าของการผลิตภายในครัวเรือนเหล่านี้ส่วนมากเกิดจากแรงงานของผู้ที่มีการศึกษาระดับประถมและแรงงานผู้หญิง การกระจายรายได้ของครัวเรือนที่เกิดจากการทำงานในอาชีพของสมาชิกมีค่าสัมประสิทธิ์จินีเท่ากับ 0.4316 แต่เมื่อนำมูลค่าของเวลาที่เกิดจากการผลิตภายในครัวเรือนไปรวมกับรายได้ที่เกิดจากการทำงานในอาชีพแล้ว ค่าสัมประสิทธิ์จินีลดลงเหลือประมาณ 0.3375 – 0.365 ดังนั้น ถ้าสมมติให้สวัสดิการของคนขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าและบริการที่บุคคลนั้นบริโภค (รวมมูลค่าของสิ่งที่ผลิตเองด้วย) ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องสวัสดิการจะไม่มากเท่ากับที่ดูจากรายได้ตามอาชีพเท่านั้น
|