บทคัดย่อ
ปรากฏการณ์การมีภาวะประชากรสูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย และใช้ระยะเวลาที่สั้นก่อนเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในสังคมไทยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับประเทศ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ต้องการศึกษาความตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของประชากรวัยกลางคนเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ และพฤติกรรมกรดำเนินชีวิตที่เอื้อต่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการเตรียมตัว กลุ่มตัวอย่างของการศึกษาคือประชากรวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 35-55 ปี จำนวน 1,703 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและใช้สมการถดถอยพหุ (Multiple Regression Analysis) และสมการโลจิตในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประชากรวัยกลางคนในความสำคัญกับการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า ด้านการเงินและที่อยู่อาศัยมีความสำคัญมาในการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ตามมาด้วยการเตรียมตัวทางด้านสุขภาพ และด้านงานอดิเรก ตามลำดับ
2. แม้ว่าการเตรียมตัวด้านสุขภาพจะมีความสำคัญในความคิดเห็นของประชากรวัยกลางคน แต่พฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ปฏิบัติอยู่มีทิศทางที่แตกต่างกัน อาทิ กิจกรรมที่สำคัญในการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจสุขภาพฟัน มีการปฏิบัติค่อนข้างน้อยกว่าประมาณ 2 ใน 5 ของประชากรวัยกลางคน ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพอยู่ โดยเฉพาะเพศชายซึ่งมีมากกว่าเพศหญิงในทุกกลุ่มอายุ
3. ประชากรวัยกลางคน 3 ใน 4 มีการเก็บออมโดยมีแหล่งออมที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคาร อย่างไรก็ตาม กว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในยามสูงอายุ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีการออมให้เหตุผลของการมีรายได้ไม่เพียงพอและมีหนี้สิน และมีเพียง 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ที่เตรียมวางแผนการออม
4. 3 ใน 4 ของประชากรวัยกลางคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยแล้วมีการวางแผนปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขาย มีร้อยละ 44 เท่านั้นที่กำลังเตรียมการและเป็นในเรื่องการออมมากที่สุด
5. ปัจจัยส่วนบุคคลในเรื่องเพศ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส และรายได้ดีผลต่อการเตรียมการด้านสุขภาพ การออม และที่อยู่อาศัย อย่างมีนัยสำคัญ
|