บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอผลการศึกษาบางส่วนจากงานวิจัยเรื่อง “การปรับตัวของเกษตรกรจากผลกระทบข้อตกลงการค้าเสรี” ซึ่งเกษตรกรในกรณีนี้คือ เกษตรกร ผู้ปลูกกระเทียมในสามอำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการปลูกกระเทียมมากที่สุด โดยเชื่อมโยง ผลการศึกษาเข้ากับแนวคิดการพึ่งตนเอง บทความนี้เป็นบททดลองนำเสนอเพื่อชวนให้ “คิดต่อ” ในประเด็นนี้
จากคำถามเริ่มต้นที่ว่า เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีมีคุณลักษณะอย่างไร เขาปรับตัวอย่างไรหลังจากที่ข้อตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้มาแล้วพอสมควรคือ 7 ปี และเขาคิดว่าแนวทางที่ควรจะเป็นในการสนับสนุนให้เขาปรับตัวได้ดียิ่งขึ้นควรจะเป็นอย่างไร ผู้ศึกษาค้นหาคำตอบโดยใช้กรอบ แนวคิดการปรับตัวเป็นแนวทางในการศึกษา และรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรที่คัดเลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างเป็นระบบจำนวน 450 คนจากเกษตรกรที่ปลูกกระเทียมจำนวน 2,014 รายในอำเภอฝาง ไชยปราการ แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติอนุมานในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าการปรับตัวของเกษตรกรไม่ได้แตกต่างไปจากการปรับตัวที่ผู้ศึกษาพบในช่วง 3 ปีก่อนหน้า (2550) เกษตรกรยังเผชิญปัญหากับ ที่ไม่แตกต่างจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เช่น ปัญหาหนี้สิน นอกจากยังต้องกู้เงินเพื่อลงทุนในการเพาะปลูกกระเทียมแล้ว เกษตรกรยังมีหนี้สินต่อเนื่องด้วย ที่น่าสนใจก็คือเกษตรกรจำนวนไม่น้อยยังยืนยันที่จะปลูกกระเทียมต่อไป แม้จะตระหนักดีว่าต้องเผชิญกับปัญหาความผันผวนของราคากระเทียม ทั้งนี้เนื่องจากความชำนาญในการปลูกกระเทียมที่สะสม มานาน ความเหมาะสมของพื้นที่ และจากการที่กระเทียมเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่น ที่สำคัญก็คือ เกษตรกรยังมีความเปราะบางสูงทั้งในด้านอายุ ทักษะ แหล่งที่มาของรายได้ ภาวะหนี้สิน การรวมกลุ่มที่ไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงในชีวิต
จากผลการศึกษานี้จึงเกิดคำถามว่า การปรับตัวที่เป็นอยู่ทำให้เกษตรกร “พึ่งตนเอง” ได้หรือไม่ หากไม่ได้ การปรับตัวที่มุ่งสู่การพึ่งตนเอง ควรมีลักษณะอย่างไร และรัฐควรมีบทบาทอย่างไรบ้างในการสนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งตนเอง การประมวลข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้ได้คำตอบว่า การปรับตัวของเกษตรกรไม่ได้ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้างและจากเกษตรกรเอง และหากจะทำให้การปรับตัวเป็นไปเพื่อการพึ่งตนเอง ต้องมีปัจจัยสนับสนุน ในส่วนของเกษตรกรต้องเริ่มต้นจากความพยายามลดการพึ่งพิง พร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง และให้ความสำคัญต่อการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีบทบาทต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความสามารถในการพึ่งตนเอง ในส่วนของรัฐควรมุ่งสู่การสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถ “พึ่งตนเอง” ได้ในระยะยาว โดยต้องให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนในเชิงโครงสร้าง ทบทวนนโยบายที่นำไปสู่การอำนวยความสะดวกในการก่อหนี้ สนับสนุนให้เกษตรกรมี “ความรู้” ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ในฐานะส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต และ เพื่อความมั่นคงในอาชีพในระยะยาว สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต สร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน “การเรียนรู้” การถ่ายทอดความรู้ และการปรับตัวเพื่อการพึ่งตนเองในระยะยาว |