วารสาร HRintelligence ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 กรกฏาคม – ธันวาคม 2554

  การคุ้มครองแรงงานไทยในไต้หวัน
  A Study on Thai Labour Protection in Taiwan

  ชไมพร รุ่งฤกษ์ฤทธิ์, วิภาดา สุวรรณประภา, สุชาดา สนามชวด

บทคัดย่อ
          งานวิจัยเรื่องการคุ้มครองแรงงานไทยในไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในไต้หวัน การได้รับความคุ้มครองของแรงงานไทยขณะทำงาน วิเคราะห์การบริหารจัดการชีวิตและรายได้ของครอบครัวแรงงานไทยที่ได้รับเงินจากการส่งมาจากไต้หวัน และเสนอแนะแนวทางต่อหน่วยงานของรัฐในการพัฒนาระบบคุ้มครองแรงงานไทยในไต้หวัน โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิและปฐมภูมิโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Observation) แรงงานไทย 10 รายที่กำลังทำงาน ณ ประเทศไต้หวัน และสัมภาษณ์ครอบครัวแรงงานไทยที่ประเทศไทย รวมทั้งสัมภาษณ์อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงานป สำนักแรงงานไทย กรุงไทเป และเมืองเกาสง รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการ Labour Concern Center-Presbyterian Church Taiwan เมืองเกาสง ผู้จัดการโครงการ 1955 สายตรงให้คำปรึกษาและคุ้มครองแรงงานต่างชาติ กรุงไทเป และตัวแทนนายจ้างผู้ดูแลแรงงานไทยบริษัท อิตาเลี่ยน-ไทย
          ผลการวิจัยพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่กำลังทำงานในประเทศไต้หวัน ประสบความสำเร็จจากการทำงานต่างประเทศ สามารถจัดอยู่ในระดับที่ 1 คือได้กำไร 6 ราย โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้างที่สังกัดบริษัทอิตาเลี่ยน-ไทย ทุกรายและมีเพียงแรงงานภาคการผลิตที่เกาสงเพียง 1 ราย (โรงงานผลิตกล่องโฟม เมืองเกาสง) ที่ส่งเงินกลับเมืองไทยได้ตามเป้าหมาย ในขณะที่แรงงานไทยที่ทำงานที่ประเทศไต้หวันจนเกือบจะหมดสัญญาจ้าง แต่อาจได้ค่าตอบแทนทั้งหมดเพียงแค่เท่าทุน มี 3 ราย โดยกลุ่มเหล่านี้ทำงานอยู่ในภาคการผลิตทั้งสิ้น ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ค่าแรงที่ได้รับเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ (17,280 บาท) แต่ต้องถูกหักค่าใช้จ่ายหลายพันบาทเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าประกัน ค่าล่าม ฯลฯ และบริษัทไม่ค่อยมีงานล่วงเวลาให้ทำ จึงทำให้สามารถส่งกลับบ้านโดยเฉลี่ยแค่ 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้น้อยกว่าที่คาดหวังเอาไว้ที่จำนวน 15,000-20,000 บาทต่อเดือน และมีแรงงานไทยเพียง 1 ราย ที่ไม่สามารถส่งเงินกลับบ้านได้
          สำหรับการคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันดำเนินการก่อตั้ง 1955 ศูนย์ตรงให้คำปรึกษาและคุ้มครองแรงงานต่างชาติในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นช่องทางรับฟังปัญหา รวมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดสิทธิแรงงานต่างชาติ สำหรับในด้านสิทธิแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานนั้น ไม่พบการถูกละเมิดสิทธิแรงงานไทยทำงานที่ประเทศไต้หวันทั้งสิบราย
          นอกจากนี้ ความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานราชการไต้หวัน โดยคณะกรรมการการแรงงาน (Council of Labour Affairs, CLA) ร่วมกับหน่วยงานราชการไทย (สนร.กรุงไทเป และเมืองเกาสง) เป็นการส่งเสริมให้แรงงานไทยมีขวัญและกำลังใจที่ดี สามารถปรับตัวได้กับสังคมไต้หวัน โดยผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรม และริเริ่มให้มีรายการวิทยุเพื่อเพื่อนคนงานไทยใต้ไต้หวัน (Radio Taiwan International) กระจายเสียงทั่วประเทศไต้หวันและทุกภาคของประเทศไทย